Bangkok Pride Festival 2024
สะบัดธงสีรุ้งบนถนนแห่งความเท่าเทียม
SCROLL DOWN
ต้อนรับ PrideMonth เดือนแห่งความหลากหลาย ที่บุคคลมีความหลากหลายทางเพศ ( LGBTIQN+ ) เฉลิมฉลองความเฟื่องฟู
ทางด้านสิทธิ ในการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในแง่มุมต่าง ๆ
กิจกรรมใหญ่เปิดหัวเดือน Pride Month คือ “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” (Bangkok Pride Festival 2024) ที่ปีนี้มาในธีม Celebration Of Love เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม ซึ่งจัดใหญ่ในรูปแบบ “เฟสติวัล” ปิดถนนเดินขบวนอย่างสร้างสรรค์ทั้งสิ้น 5 ขบวนหลัก 5 นิยามความรักที่เปิดกว้างให้ผู้เข้าร่วมตีความในหลากหลายรูปแบบ (1 มิ.ย. 67)
“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ร่วมเดินขบวนไพรด์พาเหรด
ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ผู้นำประเทศให้การสนับสนุน
สำหรับเส้นทางเดินขบวนจุดสตาร์ทภายในอาคารกีฬานิมิบุตรที่เปิดให้เป็นห้องแต่งตัวสำหรับผู้ที่เข้าร่วมการเดินขบวน
ก่อนให้ไปรวมตัวกันที่สนามกีฬาเทพหัสดินรอสัญญาณเริ่มเดิน จากนั้นเดินเท้าไปยังถนนพระราม 1
มุ่งหน้าสู่แยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์
รวมระยะทางกว่า 2.5 กิโลเมตร เพื่อนำเสนอนิยามความรักในแบบของตัวเอง และใช้ความรักนำทางสร้างสรรค์สังคมที่เท่าเทียม
“ปู่กัญจน์ควงย่าตุ๊ก” ร่วมเดินขบวนรณรงค์การจดแจ้งชีวิตคู่ให้มีผลทางกฎหมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องกฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมยังเผยทริกชีวิตคู่ยาวนานกว่า 30 ปี ว่า “อย่าโกรธกันนาน และไม่โกรธข้ามคืน ปัญหาไม่ใช่เรื่องใหญ่โต รีบหันหน้าพูดคุยกันให้จบ”
“สิ่งที่อยากได้จากงานนี้ เอาจริง ๆ เลย เราแค่อยากมีความสุข อยากมีความสนุกแบบนี้ และอยากมีรอยยิ้มให้เทียบเท่ากับกลุ่ม LGBT ของไทย” กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเมียนมาในนามกลุ่ม LGBT ที่ออกมาส่งเสียงเรียกร้องความเท่าเทียมเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตยในเมียนมา ที่เป็นความหวังของพวกเธอ และประชาชนชาวเมียนมาอีกมากมาย
อีกด้านหนึ่ง “Bangkok Pride Festival 2024” ยังเปิดพื้นที่ให้กับ “กลุ่มชาติพันธุ์”
ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย ซึ่งพวกเธอและเขา ล้วนมาที่นี่ด้วยความหวัง “ยังมีกฎหมายอีกหลายข้อที่เรารอความคืบหน้าอยู่”
เสียงจากหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์เล่าให้ฟัง
“มันคือการมีตัวตนของเรา ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของประเทศ” เจ้าของเสียงเดิม พูดด้วยแววตาที่เปี่ยมด้วยความหวัง
ขณะที่บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงคนบุคคลที่มีชื่อเสียง ออกมาเดินขบวนแสดงพลังของชาวสีรุ้งกันเต็มถนนพระราม 1
การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับการจัดงานไพรด์สู่มาตรฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมกรุงเทพมหานครสู่การเป็นเจ้าภาพ “Bangkok WorldPride 2030” ตอกย้ำในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและปลอดภัยสำหรับทุกคนในประเทศไทย